“ทิชา” เรียกร้องสังคมจับตา กสทช.ลงดาบทีวีดิจิตอลสองช่องดัง23ก.ย.นี้ 

 หลังนำเสนอข่าวละเมิดสิทธิเด็ก มอมเมา ดราม่า ใบ้หวย หรือทำได้แค่สะกิด ปล่อยผีสองช่องแย่งชิงเรตติ้งบนความเสื่อมของสังคม วันนี้ (21กันยายน) นางทิชา ณ นคร ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ตนและคณะทำงานได้เข้าพบ พลโท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ หนึ่งในกรรมการ กสทช.และประธานอนุกรรมการกำกับเนื้อหา ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สืบเนื่องจากที่มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ร่วมกับเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ได้เคยไปยื่นหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2563เพื่อให้ตรวจสอบการเผยแพร่ข่าวของทีวีดิจิตอลสองช่องดัง ว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิเด็ก ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเข้าข่ายมอมเมาประชาชนให้เล่นการพนันหรือไม่ หากพบความผิดจริงขอให้ดำเนินคดีตามมาตรา 37 มาตรา 53 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ นอกจากนี้ ได้ขอให้เร่งออกมาตรการควบคุมจริยธรรมสื่อมวลชนให้ชัดเจน  เพราะการกำกับดูแลกันเองแบบระบบสมัครใจ โดยไม่มีกฎหมายรองรับจะไร้ผลและจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงเสือกระดาษ ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

นางทิชา ณ นคร 

นางทิชา กล่าวว่า เครือข่ายฯยังขอให้ออกมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของสื่อในกรณีละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงได้ขอเรียกร้องผ่านไปยังคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ องค์กรวิชาชีพสื่อต่างๆ ต้องให้ความสําคัญและมีมาตรการที่ชัดเจนในการป้องกันและเเก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที ตลอดจนขอให้ประชาชนช่วยกันแสดงออกด้วยการปฎิเสธ ไม่สนับสนุนสื่อที่เสนอข่าวไม่สร้างสรรค์ละเมิดสิทธิเด็กและสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล มอมเมาประชาชน และขอให้กำลังใจสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่ยังยืนหยัดนำเสนอข่าวสร้างสรรค์สังคม โดยคำนึงถึงหลักจริยธรรมวิชาชีพ ไม่ละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิส่วนบุคคลและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ตกเป็นข่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ทางมูลนิธิและคณะทำงานได้เข้าพบผู้บริหารทีวีทั้งสองช่องดังกล่าวเพื่อขอความร่วมมือแล้ว   “ทราบมาว่าอนุกรรมการกำกับเนื้อหาได้เสนอให้คณะกรรมการ กสทช.ชุดใหญ่ ซึ่งจะประชุมกันในวันที่ 23กันยายน 2563  มีมติเพื่อลงดาบกับช่องทีวีทั้งสองราย ที่เผยแพร่ข่าวสารที่ละเมิดจรรยาบรรณ ในอัตราโทษสูงสุด  ดังนั้นจึงขอให้สังคมร่วมเฝ้าติดตามการตัดสินใจของคณะกรรมการ กสทช. ที่จะประชุมกันในวันดังกล่าวด้วย ว่าจะเป็นแค่เสือกระดาษทำได้แค่สะกิด ปล่อยผีสองช่องแย่งชิงเรตติ้งบนความเสื่อมของสังคมต่อไปหรือดำรงไว้ซึ่งหลักการ ความถูกต้องยุติธรรม   ส่วนการหารือและแสดงความคิดเห็นต่อประธานอนุกรรมการกำกับเนื้อหาในวันนั้นมีหลายประเด็น โดยเฉพาะข้อสังเกตเรื่องการลาออกของทีมงาน 2 คน จาก 1 ใน 2 ช่องเพราะอึดอัดกับการเสนอข่าวลักษณะดังกล่าว การแสดงออกของประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์ที่เริ่มต่อต้านขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆไปถึงขั้นบอยคอต และไม่มีเหตุผลที่คณะกรรมการ กสทช.จะเบามือ หากกสทช.ไม่กล้าลงดาบเต็มแรง โรคเรื้อรังชนิดนี้ของสื่อจะยกระดับเป็นโรคระบาด และเป็นอีกหนึ่งปัญหาสังคมแน่นอน คำถามที่ กสทช. ต้องตอบในวันที่ 23 คือ ทำไมประเทศไทยต้องมี กสทช.หากในยามที่สังคมต้องการผู้กล้า ต้องการความกล้าหาญขององค์กรที่หล่อเลี้ยงด้วยภาษีอากรของประชาชน เพื่อยับยั้งภัยคุกคามประชาชนกลุ่มที่เปราะบางที่สุด แต่พวกเขาทำไม่ได้ ไม่กล้าหาญพอ” ที่ปรึกษามูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *