CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์ ช่วยทีมแพทย์ประเมินคนไข้ก่อนถึง รพ. พร้อมรักษาได้ทันท่วงที

CITE DPU ร่วมเอกชน พัฒนาระบบติดตามสถานะผู้ป่วยบนรถพยาบาลแบบเรียลไทม์ ช่วยทีมแพทย์ประเมินคนไข้ก่อนถึง รพ. พร้อมรักษาได้ทันท่วงที อนาคตมีแนวคิดพัฒนาระบบเชื่อมต่ออุปกรณ์การแพทย์ภายในรถหลากหลายขึ้น หวังช่วยแพทย์รักษาได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

การนำผู้ป่วยหรือคนไข้ฉุกเฉิน โดยรถพยาบาล (Ambulance)  ไปยังโรงพยาบาลเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีนั้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่อาจทราบถึงรายละเอียดสภาพปัญหา รวมไปถึงสัญญาณชีพของผู้ป่วยและระยะเวลาในการเดินทางมาถึงโรงพยาบาลได้ ในบางครั้งจึงไม่สามารถเตรียมการช่วยเหลือคนไข้ได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดการเกิดปัญหาดังกล่าว จึงเกิดโครงการระบบติดตามสถานะของผู้ป่วยและตำแหน่งของรถพยาบาล โดยความร่วมมือของ  วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กับ บริษัท Tely 360 จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบทางการแพทย์แบบครบวงจร

            ผศ.ดร.ณรงค์เดช กีรติพรานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ วิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนาระบบติดตามตำแหน่งรถพยาบาลพร้อมสัญญาณชีพของผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์ได้ทราบรายละเอียดโดยรวมของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์และเตรียมการรักษาได้อย่างเหมาะสมและทันการณ์ โดยปัจจุบันระบบนี้ได้ติดตั้งบนรถพยาบาลไปแล้วกว่า 200 คัน ทั่วประเทศ อาทิ จังหวัดขอนแก่น อยุธยา เชียงราย ภูเก็ต ยะลา กรุงเทพฯ เป็นต้น

            ทั้งนี้ ระบบจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยส่วนแรกจะเป็นอุปกรณ์ติดกับตัวรถ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ทำให้แพทย์ได้มองเห็นสภาพโดยรอบภายในรถรวมถึงสภาพของผู้ป่วยผ่านกล้อง ทราบถึงอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตของผู้ป่วย ฯลฯ   ส่วนที่ 2 จะเป็นส่วนคลาวด์เซิฟต์เวอร์สำหรับเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย และส่วนที่ 3  เป็นแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ซึ่งจะปรากฏข้อมูลของคนไข้บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้แพทย์สามารถประเมินสถานการณ์ของคนไข้จากข้อมูลที่ปรากฏนี้ได้

            “ระบบนี้เป็นแบบเรียลไทม์ จะทำให้ทราบระยะเวลาว่าอีกกี่นาทีที่รถจะถึงโรงพยาบาล มองเห็นสภาพโดยรวมของคนไข้ ความดัน อัตราการเต้นของหัวใจ อาการหนักมากน้อยแค่ไหน  แพทย์จะได้ประเมินและเตรียมการรักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที” ผศ.ดร.ณรงค์เดชกล่าว

            ผศ.ดร.ณรงค์เดช กล่าวในตอนท้ายว่า การพัฒนาระบบขั้นต่อไปในอนาคตมีแนวคิดจะพัฒนาให้ระบบสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์หรือเครื่องมือเฉพาะทางการแพทย์ภายในรถพยาบาลให้ได้หลากหลายมากขึ้น อาทิ เครื่องปั๊มหัวใจ เครื่องวัดปริมาณเลือด/น้ำเกลือ ฯลฯ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทีมแพทย์พยาบาลในการเตรียมการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *