ผลงานวิจัยด้านPhysical Sciences ม.วลัยลักษณ์ ติดอันดับ 3 Nature Index Ranking 2020

ผลงานวิจัยตีพิมพ์ด้าน Physical Sciences ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับล่าสุดของดัชนีวารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index Ranking 2020 ส่วนผลงานภาพรวมอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ เว็บไซต์ natureindex.com ได้เผยแพร่ข้อมูลการจัดอันดับจากดัชนีวารสารชั้นนำระดับโลก Nature Index Ranking ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2019 -31 ธันวาคม 2019 โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index Ranking 2020 ด้าน Physical Sciences ให้อยู่ในอันดับที่ 3 ของประเทศไทย เป็นผลมาจากการเผยแพร่งานวิจัยสำคัญเกี่ยวกับ Deformed Starobinsky model in gravity’s rainbow ในวารสาร European Physical Journal C มีรองศาสตราจารย์ ดร. พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย เป็น First author และผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Unification of inflation and dark matter in the Higgs–Starobinsky model ในวารสาร European Physical Journal C มีรองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย เป็น Corresponding author เช่นเดียวกัน ทำให้ ม.วลัยลักษณ์อยู่อันดับที่ 3 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในด้าน Physical Sciences

ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปอีกว่า หากดูภาพรวมครอบคลุมทั้งในด้าน Physical Sciences, Life Sciences, Chemistry และ Earth & Environmental Sciences ผลปรากฎว่าในช่วงดังกล่าว มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index Ranking ให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศไทย เป็นผลมาจากการเผยแพร่ 5 ผลงานวิจัยสำคัญ ดังนี้ 1) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Deformed Starobinsky model in gravity’s rainbow เผยแพร่ในวารสาร European Physical Journal C โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย เป็น First author 2) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Unification of inflation and dark matter in the Higgs–Starobinsky model ในวารสาร European Physical Journal C โดย รองศาสตราจารย์ ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย เป็น Corresponding author 3) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ The First Observation of Hidden Hysteresis in an Iron(III) Spin‐Crossover Complex เผยแพร่ในวารสาร Angewandte Chemie International Edition โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.พิมผกา ฮาร์ดิง และรองศาสตราจารย์ ดร. เดวิด เจมส์ ฮาร์ดิง เป็น Corresponding author 4) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ Metformin Inhibits Progression of Head and Neck Squamous Cell Carcinoma by Acting Directly on Carcinoma-Initiating Cells ในวารสาร Cancer Research โดยมี อาจารย์ ดร.ทพ.พนมวัฒน์ อมรพิมลธรรม เป็น Co-author และ5) ผลงานวิจัยเกี่ยวกับ 4E-BP1 Is a Tumor Suppressor Protein Reactivated by mTOR Inhibition in Head and Neck Cancer ในวารสาร Cancer Research มี อาจารย์ ดร.ทพ.พนมวัฒน์ อมรพิมลธรรม เป็น Corresponding author ส่งผลให้ ม.วลัยลักษณ์อยู่อันดับที่ 6 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย

“มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index Ranking ด้าน Physical Sciences ให้อยู่ในอันดับที่ 3 และภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 6 ของประเทศไทยเกิดจากการขับเคลื่อนนโยบายด้านการวิจัยเพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยสมบูรณ์แบบทั้งการวิจัยพื้นฐานเพื่อการเรียนการสอนและการวิจัยขั้นสูงที่สำคัญได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคณาจารย์ของม.วลัยลักษณ์ทุกคน เพื่อนำพามหาวิทยาลัยให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อไป”ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *