สสส. ชูโมเดลชุมชนหัวชุกบัว อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม นำร่องรับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ ยาเสพติด-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-อุบัติเหตุทางถนน สานพลังผ่านกลไก พชอ. หมออนามัย สร้างมาตรฐานชุมชนเข้มแข็งและคุณภาพชีวิตของชุมชนยั่งยื่น ลดปัญหายาเสพติด ลดพื้นที่สีแดงได้จริง
เมื่อวันที่21 เมษายน ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา อ.กำแพงแสนจ.นครปฐม คณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียนความสำเร็จในการบูรณาการจัดการปัจจัย 3 เสี่ยงด้านสุขภาพร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นายอำเภอกำแพงแสน นายกสมาคมเครือข่ายหมออนามัยวิชาการ สาธารณสุขอำเภอกำแพงแสน และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ
โดย นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนภาคีเครือข่ายในการสร้างเสริมสุขภาพ จัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและภัยคุกคามสุขภาพ โดยเฉพาะยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุทางถนน โดยบูรณาการกับกลไกของระบบสุขภาพอำเภอ เกิดรูปธรรมและผลลัพธ์ที่ชัดเจนในพื้นที่อ.กำแพงแสน มีกลไกการทำงานที่เข้มข้น 1.ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหายาเสพติด สานพลังชุมชน คนหัวชุกบัว ล้อมรักษ์ให้ครอบครัวขจัดภัยยาเสพติด 2.บูรณาการระบบบริการสุขภาพเพื่อการจัดการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสร้างความรอบรู้ด้วยกลยุทธ์ พักตับ ยืดชีวิต โดยสร้างกลไกระบบส่งต่อในระบบบริการสุขภาพเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมส่งต่อการรักษาผ่าน กลไก สามหมอ 3.บูรณาการเครือข่ายหมออนามัยกับภาคส่วนอื่นๆเพื่อขับเคลื่อนลดอุบัติเหตุในชุมชน พร้อมมาตรการ 5 ป. ประชาคม ประชาสัมพันธ์ ปลูกทัศนคติ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับปรุงสภาพแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุในชุมชนในพื้นที่ อ.กำแพงแสน

“การมีส่วนร่วมทั้งภาคีเครือข่ายและชุมชน ส่งผลให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งงบประมาณ ทรัพยากร และกำลังคน ดำเนินงานผ่านการสนับสนุนของ สสส. เครือข่ายหมออนามัยวิชาการและกลไก พชอ. บนฐาน ‘พื้นที่เป็นฐาน ชุมชนเป็นศูนย์กลาง’ เพื่อคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน ทำให้เกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการจัดการและสามารถลดปัญหาที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยง เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่ การถอดบทเรียนการขับเคลื่อนงานจัดการปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามสุขภาพของอ.กำแพงแสน ก่อให้เกิดการเรียนรู้และนำไปสู่ขยายผลเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต่อไป” นพ.สุรเชษฐ์ กล่าว
นายนรวีร์ ขันธหิรัญ นายอำเภอกำแพงแสน กล่าวว่า อ.กำแพงแสน ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ ผ่านกลไกพชอ.กำแพงแสน โดยมุ่งเน้นประเด็นปัญหาหลัก ยาเสพติด อุบัติเหตุทางถนน และโรคไม่ติดต่อ ซึ่งประเด็นปัญหาที่ท้าทาย โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ต้องอาศัยการจัดการและการขับเคลื่อนของพื้นที่อ.กำแพงแสน ขณะที่การจัดการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาเสพติด และการจัดการอุบัติเหตุทางถนน ระดมทีมภาคราชการ ภาคหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น สาธารณสุข ผู้นำชุมชน อสม. อปพร. และพลังของภาคีเครือข่ายระดับอำเภอ ร่วมกันออกแบบและพัฒนากลไกการทำงานที่ยั่งยืน รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน การใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชน และการสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
“ส่วนหนึ่งของปัจจัยของความสำเร็จของการขับเคลื่อนงานของ พชอ. คือ เครือข่ายหมออนามัยที่เป็นพลังหลักและเป็นผู้นำการเชื่อมประสานและพัฒนากลไกชุมชน ส่งเสริมการจัดการตนเองของชุมชนในการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ การเสริมพลังและสะท้อนเชิงพัฒนาจากทุกภาคส่วน เป็นโอกาสสำคัญต่อการยกระดับและต่อยอดแนวคิดใหม่ๆ สู่การขับเคลื่อนงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่” นายนรวีร์ กล่าว

นายธนาธิป บุญญาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสุขภาพในต.สระพัฒนา ในปี 2567 ได้แก่ 1.ยาเสพติด พบมีผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัด 23 คน พบอาการทางจิต 1 คน และเป็นกลุ่มสีแดง คือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวชร่วมด้วย มีอาการอาละวาด คลุ้มคลั่ง เป็นอันตรายกับคนในชุมชน 2 คน ต้องส่งรักษาในโรงพยาบาล 2.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีผู้ดื่มทั้งหมด 357 คน เป็นกลุ่มวัยทำงาน อายุ 35-59 ปี สูงถึง 62.5% ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มดื่มแบบเสี่ยง 183 คน แดื่มแบบมีความเสี่ยงสูง 69 คน โดยเชิญชวนกลุ่มดื่มแบบเสี่ยงทั้งหมดตรวจเลือดประเมินค่าเอนไซม์ตับ มีผู้สมัครใจเข้าร่วม 105 คน 3.อุบัติเหตุทางถนน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ พบมีผู้ประสบภัย 61 คน ผู้บาดเจ็บ 59 คน เสียชีวิต 2 คน“การทำงานในพื้นที่ ต.สระพัฒนา มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหมออนามัย ได้บูรณาการการจัดการปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ 1.เชื่อมประสานทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วมมากที่สุด 2.ร่วมวางแผนในการดำเนินการ 3.สำรวจพื้นที่ ร่วมติดตามแก้ไข 4.เป็นวิทยากรในการอบรมให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในทุกมิติเพื่อลดความเสี่ยงเพิ่มปัจจัยบวกด้านสุขภาพของคนในชุมชน และเป็นหน่วยงานที่สร้างแกนนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทุกด้านเช่น การอบรมให้ความรู้กับ อสม. ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ ตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันดูแล แก้ไขปัญหาในพื้นที่” นายธนาธิป กล่าว
นายสุวัจชัย เกียรติสกุลทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระพัฒนา กล่าวว่า ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและอุบัติเหตุในทางหลักหรือทางรองของพื้นที่ ต.สระพัฒนา การจับมือกับหลายภาคส่วนระดมสมอง ทำให้ต.สระพัฒนา สามารถจัดการปัญหาได้ค่อนข้างดี ล่าสุดได้ใช้โมเดลชุมชนล้อมรักษ์ ช่วยบำบัดผู้ป่วยยาเสพติดได้รับการดูแลได้รับโอกาสคืนกลับสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างปกติ 6 คน หยุดเสพ 3 คน ลดการใช้ยา 1 คน เกิดครอบครัวล้อมรักษ์และครัวเรือนสีขาว 246 ครัวเรือน เกิดการขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชนบ้านหนองหมู ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันกิจกรรมส่งเสริมการเล่นกีฬาในชุมชน โดยจัดพื้นที่เล่นกีฬา ติดไฟให้สว่างเพื่อความปลอดภัย ลดการมั่วสุมยาเสพติด ทั้งหมดนี้ทำให้ชุมชนมีความตื่นตัวไปพร้อมกัน เพื่อให้ไม่ถูกเรียกว่าเป็นชุมชนพื้นที่สีแดงอีกต่อไป