วงเสวนาเปิดข้อมูล 7 มะเร็งจากพิษแอลกอฮอล์ องค์การอนามัยโลกคาดปี 2050 ยอดป่วยรายใหม่สูงถึง 35 ล้านคน สุดห่วงหญิงไทยดื่มมากขึ้น โดยไม่รู้ตัวถูกก่อภัยเงียบมะเร็งเต้านม แนะหยุดดื่มตั้งแต่วันนี้ดีที่สุด วอนรัฐติดฉลากเตือนบนผลิตภัณฑ์ พร้อมจับตา ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเหล้า หย่อนมาตรการ ขอรัฐช่วยเซฟชีวิตคนมากกว่าเห็นประโยชน์จากเม็ดเงิน
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 – ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานวันมะเร็งโลก พร้อมเสวนาเรื่อง “คนไทยตื่นตัวแอลกอฮอล์ก่อมะเร็ง 7 ชนิด” โดยมีภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ประธานเครือข่ายงดเหล้า เป็นประธานเปิดงาน และมีรศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รศ.ดร.พญ.ภัทรพิมพ์ สรรพวีรวงศ์ หน่วยมะเร็งวิทยา สาขาวิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายรัชเวทย์ คำเสมอคชสีห์ ผู้สูญเสียภรรยาการโรคมะเร็ง ร่วมเสวนา และดำเนินรายการโดย นายธีระ วัชรปราณี ผอ.สำนักงานเครือข่ายงดเหล้า
ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของประชากรโลก โดยองค์การอนามัยโลก คาดว่าในปี 2050 จะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 35 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 77 % จากปี 2020 ซึ่งมีประมาณ 20 ล้านคน ส่วนในประเทศไทย ปี 2022 มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ 140,000 คน หรือ เฉลี่ย 400 คนต่อวัน สาเหตุหลักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต อาทิ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การกินอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ปัญหามลพิษ PM 2.5 เป็นต้น ที่น่าเป็นห่วงคือ สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจเมื่อพ.ศ.2560 พบนักดื่มหน้าใหม่เป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ามะเร็งเต้านมมีแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุ ทั้งนี้มีงานวิจัยสมัยใหม่ระบุชัดว่าไม่มีอัตราการดื่มที่ปลอดภัย ที่บอกว่าดื่มน้อยดี ดื่มไวน์วันละแก้วดีต่อระบบหัวใจ ล้วนเป็นความเชื่อที่ล้าสมัย เพราะแม้ดื่ม 1 แก้ว ก็เสี่ยงมะเร็งเต้านมมากขึ้น ดังนั้น สสส.จึงหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็นในการรณรงค์มากขึ้น ล่าสุดนายแพทย์ใหญ่ ที่แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกมาระบุว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสาเหตุอันกับ 3 ที่ก่อโรคมะเร็ง ดังนั้นรัฐต้องระบุเรื่องนี้เอาไว้ในฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อให้ประชาชนทราบ ซึ่งตนเห็นว่า ประเทศไทยก็ควรจะมีเช่นกัน แต่กลับพบว่าการยกร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการลดมาตรการควบคุมลง ซึ่งต้องรอดูว่า กฎหมายเข้าสภาเมื่อไหร่ จึงได้แต่หวังให้คนปลอดจากโรคมะเร็งและผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์ด้วย
พญ.ภัทรพิมพ์ กล่าวว่า การเกิดโรคมะเร็งมาจากปัจจัยภายใน คือเรื่องของเซลล์ ความผิดปกติของระบบบควบคุมยีน ต่างๆ ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกัน กับสาเหตุกระตุ้นภายนอก โดยเฉพาะบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยกระตุ้น ทั้งตัวมันเองเพราะมีสารก่อมะเร็ง และการไปกระตุ้นปัจจัยภายในของแต่ละคนให้เกิดมะเร็งเร็วขึ้น แรงขึ้นได้ โดยมะเร็งที่พบมากในเพศชายคือ มะเร็งระบบหูคอ จมูก มะเร็งช่องปากและลำคอ ส่วนมะเร็งที่พบมากในสตรี คือมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก ยกตัวอย่าง มะเร็งเต้านมนั้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะไปเพิ่มปริมาณเอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศให้มากขึ้น เกิดความผิดปกติของฮอร์โมนกระตุ้นการเกิดมะเร็งเต้านม เป็นต้น ดังนั้นแพทย์จะแนะนำผู้ป่วยที่ผ่านกระบวนการรักษาจนหาย หรือโรคสงบแล้วให้เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพยายามสร้างความตระหนักรู้ในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคมให้รู้เท่าทันพิษภัยของแอลกอฮอล์ที่เกี่ยวกับมะเร็ง และโรคอื่นๆ
ด้าน นพ.พลเทพ กล่าวว่า แอลกอฮอล์มีความเสี่ยงก่อโรคมะเร็งโดยตรง ทำให้ปัจจุบันเริ่มได้ยินเสียงแพทย์จากทั่วโลก เช่น แพทย์ที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรบางอย่าง ดังนั้นที่ประเทศไทยก็ควรต้องส่งเสียงว่าเราได้รับอะไรบางอย่างจากสิ่งที่รัฐบาลทำ ทั้งนี้มี 5 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรคมะเร็งกับแอลกอฮอล์ คือ 1. เป็นสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 7 ชนิด คือ มะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งเต้านมในผู้หญิง แต่มีผู้หญิงน้อยคนที่รู้เรื่องนี้อนาคตอาจจะเจอเยอะว่านี้ก็ได้ 2. มะเร็งที่พบบ่อยจากการดื่มในผู้ชายคือมะเร็งลำไส้ส่วนผู้หญิงคือมะเร็งเต้านม ในแต่ละปีมีผู้หญิงเสียชีวิต 70,000 คนผู้ชายเสียชีวิตประมาณ 1 แสนคน ที่มีสาเหตุสัมพันธ์กับแอลกอฮอล์ 3. ดื่มแก้วแรกก็เสี่ยงมะเร็ง โดยข้อมูลพบว่ามากกว่า 1 ใน 10 ของผู้ป่วยมะเร็งก็เกิดจากการดื่มน้อย 4.การสูบบุหรี่ หรือบุหรี่ไฟฟ้าร่วมกับการดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มความเสี่ยงเกิดมะเร็งปาก มะเร็งคอหอย มะเร็งหลอดอาหาร 5 เท่า ถ้าดื่มหนัก เช่นดื่ม 4-5 ดื่มมาตรฐานต่อวันขึ้นไป ความเสี่ยงจะเพิ่มเป็น 30 เท่า 5. มะเร็งที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์สามารถป้องกันได้ด้วยมาตรการ เช่น ห้ามโฆษณา ทำการตลาด กำหนดอายุ เพิ่มภาษี หรือราคาให้สูง
นพ.พลเทพ กล่าวต่อว่า ถ้าลดการดื่มลงความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งก็ลดลง แต่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะเวลาด้วย เช่น เลิกดื่ม 20 ปี ลดความเสี่ยงเกิดมะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งลำคอ เลิกดื่ม 15-20 ปี มะเร็งกล่องเสียง เลิกดื่ม 10-15 ปี มะเร็งเต้านมเลิกดื่ม 10 ปี และมะเร็งตับเลิกดื่ม 5 ปี โดยวันที่เลิกดื่มได้ดีที่สุดคือวันนี้ อดีตที่ผ่านมาก็ไม่เป็นไร สำคัญคือวันนี้เลิกดื่ม และรัฐต้องมีมาตรการควบคุม ป้องกัน ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะมาตรการติดฉลากคำเตือนเรื่องการก่อโรคมะเร็งบนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหมือนที่ไอซ์แลนด์ทำ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในปี 2026 ให้ติดฉลากด้วยสีที่เด่นชัด ขนาดใหญ่ มีภาพประกอบ เป็นต้น ตลอดจนรวมยุทธศาสตร์เรื่องแอลกอฮอล์กับโรคมะเร็งเข้าด้วยกัน ส่งเสริมกิจกรรมปลอดแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มลดหย่อนการควบคุมลง ประชาชนควรมีสิทธิมีเสียงคัดค้าน
“วันนี้เรามีคนดื่มประมาณ 30 % คนไม่ดื่ม 70 % เลยอยากฝากคนที่ไม่ดื่มให้ช่วยบอกคนรอบข้างว่า นอกจากเสี่ยงเสียชีวิตโดยรวมแล้ว ยังเสี่ยงเป็นมะเร็งด้วย ส่วนคนดื่มอยู่ ดีสุดคือหยุดดื่ม เพราะไม่มีการดื่มที่ปลอดภัย ที่บอกว่าดื่มแล้วดีนั้นน่าจะเป็นเฟคนิวส์มากกว่า ส่วนผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันเราเริ่มมีการแก้พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลายอย่างเริ่มหย่อนลง เรื่องติดฉลากเป็นเรื่องหนึ่งในตัวอย่างที่อเมริกาเขาพูดขึ้นมา แล้วเราพยายามออกเสียง แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่หย่อนลง ขอให้ภาครัฐต้องยึดถือความปปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เห็นประโยชน์ทางเม็ดเงินเป็นรอง ซึ่งบางอย่างไม่สามารถเปรียบเทียบเป็นตัวเงินได้” นพ.พลเทพ กล่าว
ขณะที่ นายรัชเวทย์ กล่าวว่า ภรรยาของตนเป็นคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และดื่มมานานตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ดื่มหนัก ดื่มจนถึงเช้า กระทั่งแต่งงาน มีลูกแล้วจึงดื่มลดลง แต่ก็ยังดื่มอยู่ โดยพอได้ดื่มแต่ละครั้งก็จะดื่มเยอะ จนต่อมารู้สึกว่ามีอาการท้องบวม ท้องป่อง ไปหาหมอก็ให้ยาแก้ปวดท้องมา แต่ไม่ได้ตรวจละเอียดมาก จนต่อมาเปลี่ยนการรักษามาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ตรวจเจอนิ่วในถุงน้ำดี ตอนที่ภรรยาอายุประมาณ 52 ปี ตัวเหลือง ซีด รักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งตอนที่ผ่าตัดก็พบว่ามีก้อนมะเร็งที่ตับด้วย แพทย์แจ้งว่าอยู่ในระยะที่ 4 รักษาไม่ได้ ภรรยาจึงปฏิเสธการฉายแสง เพราะเห็นว่ารักษาไม่ได้แล้ว จึงขอรักษาด้วยการกินยาสมุนไพรแทน จนกระทั่งเสียชีวิต ซึ่งทั้งหมดก็เป็นผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักมานาน ดังนั้น ตนในฐานะที่ร่วมในชุมชนลดปัจจัยเสี่ยงก็ขอบอกต่อถึงพิษภัยของแอลกอฮอล์ ว่าไม่ใช่แค่ทำให้เป็นความดัน ปวดหัวเพราะแฮ้งเท่านั้น แต่ยังร้ายแรงถึงขั้นก่อโรคมะเร็งได้ การจัดงานกิจกรรมต่างๆ ขอให้หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็สนุกได้ ถ้ายังไม่ตระหนักอาจจะให้เกิดการสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกคืนได้เหมือนกับที่ตนต้องสูญเสียภรรยาไป