“สุพรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์เพียงหงส์ทรงพรมมินทร์ ลินลาศเลื่อนเตือนตาชม” คือคำบรรยายจากกาพย์เห่เรือของ เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร หรือเจ้าฟ้ากุ้ง ถึงความวิจิตรของ ‘เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์’ ที่มีความงดงามและประวัติอันมายาวนาน เปรียบดังมรดกอันล้ำค่าคู่แผ่นดินไทยและโลก

‘จ๊ะจ๋า-แดนดาว ยมาภัย’ นักแสดงเจ้าบทบาทจากละครย้อนยุค เปิดเผยความเป็นมาของเรือสุพรรณหงส์ มรดกคู่บ้านเมืองตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสร้างขึ้นตามความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เปรียบดังสมมติเทพและทรงหงส์เป็นราชพาหนะ ขณะที่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยปลายรัชกาลที่ 5 จนแล้วเสร็จในรัชกาลที่ 6 มีรูปลักษณ์โดดเด่นและวิจิตรงดงามไม่แพ้งานศิลป์อื่น
“โขนเรือเป็นรูปหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หมายถึง เรือที่เป็นเครื่องประดับยศ” แดนดาวอธิบายลักษณะของเรือสุพรรณหงส์ โดยส่วนอื่นยังประกอบด้วยปลายพู่ที่เป็นแก้วผลึก ขณะที่ลำตัวเรือทอดยาวคือ ส่วนตัวหงส์ที่จำหลักไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาด้วยสีดำ ท้องเรือภายในทาสีแดง ตอนกลางลำเรือทอดบัลลังก์กัญญาหรือบุษบกไว้สำหรับเป็นที่ประทับ” แดนดาวค่อยบรรยายลักษณะของเรือสุพรรณหงส์

ทั้งนี้ เรือสุพรรณหงส์ ได้รับรางวัลยกย่องให้เป็นเรือ ‘มรดกโลก’ เมื่อปี 2535 จากองค์กร World Ship Trust ล่าสุดได้ถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค เมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา
สำหรับเรือพระที่นั่งในปัจจุบันมีจำนวน 4 ลำ ประกอบด้วย
1. เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรืออัญเชิญผ้าพระกฐินประดิษฐานเหนือบุษบก
2. เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือที่ประทับ
3. เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เป็นเรือที่ประทับของพระบรมวงศ์
4. เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณประจำรัชกาลที่ 9 เป็นเรือพระที่นั่งสำรอง

แดนดาวยังทิ้งท้ายว่า ปัจจุบันเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี กรุงเทพฯ ร่วมกับเรือพระราชพิธีลำอื่น โดยเชิญชวนให้ทุกคนที่สนใจเดินทางไปเข้าชมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00 – 17.00 น.