สสส.จับมือภาคีเครือข่าย ปลุกพลังทางสังคมคุมเข้มทุกปัจจัยเสี่ยง เน้นลอยกระทงสร้างสุข พ้นทุกข์โรคภัย ใส่ใจสายน้ำ

สสส.จับมือภาคีเครือข่าย ปลุกพลังทางสังคมคุมเข้มทุกปัจจัยเสี่ยง เน้นลอยกระทงสร้างสุข พ้นทุกข์โรคภัย ใส่ใจสายน้ำ สร้างความสุขความปลอดภัยผู้มาร่วมงาน พร้อมเชิญชวนขอขมาพระแม่คงคา ด้วยการลงมือรักษาสิ่งแวดล้อมต้นน้ำยันปลายน้ำ แก้ไขเหตุภัยพิบัติจากน้ำมือมนุษย์

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายงดเหล้า มูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม พร้อมภาคส่วนต่างๆ แถลงข่าว “ชวนลอยกระทงสร้างสุข พ้นทุกข์โรคภัย ใส่ใจสายน้ำ” พร้อมทั้งเสวนาบทเรียนการทำงานที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร

นายมานพ แย้มอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ร่วมกับเครือข่ายงดเหล้าและภาคี รณรงค์งานลอยกระทงต่อเนื่องเป็นปีที่ 17 ในภาพรวมพบว่าสถานการณ์ในพื้นที่จัดงานดีขึ้นมาก ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตราย อาทิ ปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ขณะที่โคมลอยซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดไฟไหม้ตลาดวโรรส จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงเทศกาลลอยกระทงปี 2566 สร้างความเสียหายกว่า 100 ล้าน รวมถึงการจุดประทัดยักษ์ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียอวัยวะจากแรงระเบิด สิ่งเหล่านี้ยังต้องหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะมีหลายพื้นที่จัดกิจกรรมปล่อยโคมลอย และจุดประทัดยักษ์ในเทศกาลดังกล่าวอยู่

นายมานพ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ จากผลการสำรวจนักท่องเที่ยวในงานลอยกระทงปี 2566 ใน 8 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย เชียงใหม่ ตาก ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อุดรธานี เลย หนองบัวลำภู กลุ่มตัวอย่าง 2,448 คน พบว่า นักท่องเที่ยว เห็นด้วยกับการจัดงานลอยกระทงแบบปลอดเหล้า 81% อยากให้มีการตรวจตราบังคับใช้กฎหมายควบคุมแอลกอฮอล์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 76% เห็นว่าทำให้การทะเลาะวิวาทในงานลดลง 90.6% ขณะที่เด็กเยาวชน 80.8% เห็นว่าไม่ควรขายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงาน ดังนั้น เจ้าภาพจัดงานลอยกระทงปีนี้ ในพื้นที่ต่างๆ ควรวางมาตรการควบคุม ป้องกันปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้ผู้ร่วมงานมีความปลอดภัย เที่ยวงานอย่างสบายใจ ไม่มีคนเมา ไม่มีความเสี่ยงจากเหตุทะเลาะวิวาท และขอให้ถือเป็นหลักปฏิบัติสำหรับการจัดกิจกรรม งานบุญประเพณีปลอดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ซึ่งจะส่งผลเชิงบวกต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย สร้างรายได้ที่ยั่งยืน

“ส่วนภาคประชาสังคมก็จะร่วมเฝ้าระวังเนื่องจากนโยบายรัฐที่เน้นการกรตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยผับบาร์สถานบันเทิง ดื่มกินเสรีมากขึ้น รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสังคมต่อเด็กเยาวชนมากขึ้น” นายมานพ กล่าว

ด้าน นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายพลังสังคม กล่าวว่า จากบทเรียนการทำงานที่ผ่านมาร่วมกันของภาคสังคมทั่วประเทศ ซึ่งส่งผลให้พื้นที่จัดงานลอยกระทงกว่า 100 แห่งทั่วประเทศหันมาเน้นเรื่องความปลอดภัย ลดปัจจัยเสี่ยง แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญ ยกตัวอย่างบทเรียนจากพื้นที่หลักสำคัญ อาทิ สุโขทัย ตาก เชียงใหม่ ที่เปลี่ยนจากพื้นที่เสี่ยงอันตรายกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้ประชาชนทุกเพศทุกวัย แม้แต่เด็กเล็ก ก็สามารถเดินเล่นลำพังคนเดียวได้หลังสี่ทุ่มเพราะปราศจากคนเมา

ดังนั้น ลอยกระทงที่จะถึงนี้จึงขอเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. ควบคุมไม่ให้มีการนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในพื้นที่จัดงาน รวมทั้งควบคุมร้านค้าและจุดจำหน่ายในพื้นที่ไม่อนุญาตให้มีการขาย และจัดหน่วยเฉพาะกิจประชาสัมพันธ์ตรวจเตือน เพื่อลดปัญหาและผลกระทบจากความมึนเมา

2. ร่วมกันควบคุมโคมลอย ประทัดยักษ์และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ไม่ให้มีการจำหน่าย และนำเข้ามาจุด มาลอยในพื้นที่โดยเด็ดขาด เพราะเสี่ยงเกิดไฟไหม้ ปัญหาขยะจากโคมที่ลอยไปตกเกลื่อนตามที่ต่างๆ และดูแลความปลอดภัยท่าน้ำ

3.ร่วมกันรักษาคุณค่าวิถีวัฒนธรรม ทำประเพณีวัฒนธรรมให้ร่วมสมัย ให้เด็กเยาวชนเข้ามาร่วมต่อยอดวิถีวัฒนธรรมเดิม ร่วมกันทำให้เห็นว่ากิจกรรมวันลอยกระทง ไม่ใช่มีแค่การลอยกระทง เพราะมีคุณค่าความหมายมากกว่านั้น

และ 4. ร่วมกันหาแนวทางและสร้างรูปธรรมในการอนุรักษ์ดูแลปกป้องแม่น้ำ แหล่งน้ำ ดินน้ำป่า เชื่อมโยงกับภัยพิบัติที่เรากำลังเผชิญในหลายพื้นที่และหาทางดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะทำให้งานลอยกระทงมีคุณค่าและความหมาย ทำให้คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของพลังทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภัยพิบัติ กลายเป็นต้นทุนทางสังคมต่อไปในอนาคต

นางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงลอยกระทงจะมีปัญหาเรื่องโคมลอยอย่างมาก โดยเฉพาะเขตเมืองเก่าที่ไม่มีการวางผังเมือง ทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้จากโคมตกใส่บ้านเรือน รถดับเพลิงจะเข้ายากมาก มีหลายคนแขนหักจากการกระโดดหนีไฟ นอกจากนี้ ยังมีว่าวไฟที่เป็นอันตรายไม่แพ้กัน ทั้งนี้เห็นว่า การทำผางประทีป (ผางปะติ๊ด) สามารถทดแทนการจุดโคมลอยได้ โดยผางประทีปจะมีความสว่างไสวจุดเพื่อบูชาพระพุทธคุณ และขอบคุณ ขอโทษสิ่งที่ใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำเตาไฟประตูบันไดบ้าน ซึ่งทำกันมาเป็นปีที่ 13 แล้ว ล่าสุด ปีนี้มีการทำบรรยากาศให้เป็นแบบดั้งเดิม เพื่อต่อสู้กับมาตรการการเปิดผับตีสี่ที่เน้นขายเหล้าเบียร์ของรัฐบาลที่เชียงใหม่ เพราะตนเชื่อว่า ไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุร้ายก่อนแล้วค่อยป้องกัน เหมือนการตัดไม้ทำลายป่าที่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมหนักในปีนี้

พระครูสุมณฑ์ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ก่อนจะมีพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบว่า งานเผาเทียนเล่นไฟสุโขทัย เต็มไปด้วยเหล้าเบียร์ แต่หลังจากนั้นอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆและภาคประชาชน โดยการนำของผู้ว่าฯ ทำให้พัฒนาการมาเป็นงานลอยกระทงปลอดเหล้า บุหรี่ กระทั่งมีกฎหมายดังกล่าวขึ้นมา แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม เราได้ใช้แนวทางแก้ไขหลายอย่าง เช่น ให้คนที่นำเหล้าเข้ามาดื่มไปทำการสาบานตนต่อหน้าพ่อขุนรามคำแหง รวมถึงช่วยกันสื่อสารเหตุผลความจำเป็นในการเที่ยวงานปลอดเหล้า จนทำให้งานประเพณีของสุโขทัยปลอดเหล้าได้จริงๆ ผู้ที่มาเที่ยวชมงานรับรู้ เข้าใจ และมาเที่ยวชมการแสดงแสงสีเสียงที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมอย่างไม่ต้องกังวล

นายณพล ชยานนท์ภักดี นายกเทศมนตรีเมืองตาก กล่าวว่า จังหวัดตากมีผ้าป่าน้ำที่เป็นความเชื่อความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชาวเมืองตากที่มีความสามัคคีและรักสนุกในเวลาเดียวกัน จึงเป็นที่มากระทงสาย ที่ทำจากกะลามะพร้าว และกลายเป็นที่นิยม มีคนมาร่วมเทศกาลจำนวนมากในปัจจุบัน จึงต้องมีการควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล้า เบียร์อย่างเข้มข้น ซึ่งสถานการณ์ก็ค่อยๆ ดีขึ้น มีนักท่องเที่ยวมาร่วมงานจำนวนมากโดยไม่ต้องพึ่งพาเหล้า เบียร์ สามารถสร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการสืบสานประเพณี การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน

นายสวัสดิ์ เจิมเครือ ปราชญ์ชาวบ้านชุมชนมอญบ้านม่วง กล่าวว่า งานลอยกระทงสายของชาวมอญบ้านม่วง เป็นวัฒนธรรมฉบับพื้นบ้านของชาวมอญ ที่ค่อนข้างจะปลอดจากการดื่ม การทะเลาะวิวาทมาเป็นทุนเดิม เนื่องจากเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่ ทำให้การรณรงค์งดเหล้า การส่งเสริมวัฒนธรรมทำได้ดี ทำให้พื้นที่วัดม่วงเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าและมีความหมายทางวิถีวัฒนธรรม ขอให้ทุกท่านช่วยกันจรรโลงศิลปวัฒนธรรม ให้อยู่คู่กับเมืองไทยสืบไป

นางสาวชนกธิดา ศิริวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า ลอยกระทงสมัยก่อนทำตามประเพณีใช้บุญนำเป็นเรื่องที่ดี ต่างจากปัจจุบันที่ต้องควบคุมโดยกฎหมายอย่างเข้มงวด สถานที่จัดงานส่วนใหญ่เป็นสถานที่ห้ามขายห้ามดื่มอยู่แล้ว และนับตั้งแต่กฎหมายบังคับใช้มาเกือบ 17 ปี พบว่าแทบไม่มีการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม เมื่อลงพื้นที่ตรวจสอบก็จะพบการแอบซ่อนเร้นแบบมิดชิด ซึ่งหมายความว่าคนตระหนักทราบดีว่างานลอยกระทงนั้นต้องปลอดเหล้า คนรู้หน้าที่มีความเข้าใจมีจิตสำนึกมากขึ้น

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *