“โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” ขับเคลื่อนมุ่งเป้าการใช้นวัตกรรม เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดีเพื่อ Scale up สร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร เน้น 4 เป้าปัง ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน

29 สิงหาคม 2567 ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ของ “โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค” กับการร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะพระสงฆ์และสามเณร ภายใต้ชื่อโครงการ การพัฒนาผู้นำทางสุขภาพต้นแบบ สงฆ์ไทยไกลโรค “พระสงฆ์นักสื่อสารสุขภาวะ” และการสื่อสารรณรงค์เพื่อขับเคลื่อนสุขภาวะแด่พระสงฆ์ โดยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งดำเนินงานโดยคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ฐิตินัน บุญภาพ คอมมอน เป็นหัวหน้าโครงการ

โครงการสงฆ์ไทยได้มีการจัดงานแถลงข่าว สงฆ์ไทยไกลโรค สู่ทศวรรษที่ 2 และเปิดตัวโครงการประกวดการใช้ เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม 2567 ณ วัดยานนาวา พระอารามหลวง โดยได้รับความเมตตาจาก พระธรรมวชิรโมลี เจ้าอาวาสวัดยานนาวา พระอารามหลวง เป็นประธานเปิดงาน ซึ่งภายในงานช่วงเช้ามีการเสวนาหัวข้อ จากนวัตกรรมเณรกล้าโภชนาดี สู่วิถีโรงเรียนต้นแบบสุขภาพสามเณร โดยคณะวิทยากรทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ ประกอบด้วย พระมหาวิจิตร กลยาณจิตโต ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม เขต 1 ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ผู้ก่อตั้งโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคและหัวหน้าโครงการเณรกล้าโภชนาดี คุณปัทมาภรณ์ อักษรชู หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมโภชนาการวัยเรียนและวัยรุ่น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย และสามเณรอภิวัฒน์ สัมพันธมาศ จากโรงเรียนพระปริยัติธรรมพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา พระอารามหลวง ซึ่งเป็นวัดต้นแบบที่โครงการใช้เป็นพื้นที่ในการออกแบบทดลองการใช้เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี

ทั้งนี้ ในการเสวนา ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและบุกเบิกโครงการสงฆ์ไทยไกลโรค ได้สะท้อนถึงปัญหาสุขภาพของสามเณรในประเทศไทยว่า

“จากสถานการณ์ในปัจจุบันพบว่า สามเณรอ้วนกว่าเด็กชายไทยถึง 51% ส่วนพระสงฆ์อ้วนกว่าชายไทย 23% ดังนั้น ปัญหาของสามเณรมีมากกว่าพระสงฆ์ เนื่องจาก สามเณรฉันผักน้อยเกิน เมินนมวัว รัวน้ำหวาน กำลังงานถดถอย และที่สำคัญสามเณรไม่ได้รับนมโรงเรียนเหมือนเด็กในโรงเรียนทั่วไปและไม่มีหลักสูตรโภชนาการเฉพาะของสามเณร ปัจจุบันพบว่า สามเณรเฉลี่ยแล้วฉันผัก 3 ช้อนโต๊ะต่อวัน ฉันนม 1 ส่วน 3 แก้วต่อวัน แต่ฉันน้ำหวานถึง 1 แก้วครึ่ง และเฉลี่ยออกกำลังกายเพียง 36 นาทีต่อวัน ซึ่งในเด็กควรออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน”

เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ได้รับการพัฒนามาจากงานวิจัยของโครงการฯ โดย ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช อธิบายว่า ได้ใช้หลักการออกแบบ 4 เป้าปัง เพื่อสุขภาพสามเณร คือ ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน และสร้างเกมเพื่อชักนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งผลตอบรับจากการใช้สื่อพบว่า สามเณรสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่โครงการตั้งไว้ โดยสามเณรฉันนมวัวเพิ่มขึ้น ฉันน้ำหวานลดลง ฉันผักเพิ่มขึ้น และออกกำลังกายเพิ่มขึ้น

เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี นับเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการด้านโภชนาการสำหรับสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม นำเสนอในรูปแบบ Interactive web-based program จัดทำเป็นสื่อกิจกรรมเสริมการเรียนรู้วิชาสุขศึกษาผ่านทางการกำกับดูแลของพระอาจารย์หรือครูผู้สอนนำไปให้สามเณรในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ทดลองเล่นในลักษณะกึ่งเกมการแข่งขัน มีรูปแบบการใช้งานที่ให้สามเณรได้บันทึกพฤติกรรมสุขภาพของตนเองในแต่ละวันเป็นระยะเวลาติดต่อกัน โดยมีสื่อให้ความรู้ แรงบันดาลใจ และระบุเป้าหมายที่ชัดเจนในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการฉันและการออกกำลังกาย ข้อมูลที่บันทึกจะถูกคำนวณเป็นคะแนนสะสม มีการให้ความชื่นชมด้วยดาวและถ้วย สามารถจัดระดับของคะแนนสะสมเปรียบเทียบ นอกจากนี้ ยังมีตัวช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาให้แนวทางแก้ไขและเสริมกำลังใจ รวมทั้งยังมีจุดให้เช็คภาวะโภชนาการ บันทึกและติดตามผลเพื่อประโยชน์ของสามเณรและการติดตามโดยพระอาจารย์ที่ดูแลสามเณร โดย เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี นี้ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติ นวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล จากการประกวดนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ Prime Minister’s Award for Health Promotion Innovation 2023

การดำเนินงานในทศวรรษที่ 2 นี้ โครงการสงฆ์ไทยไกลโรค มีเป้าหมายในการใช้นวัตกรรม เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี มา Scale up เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของสามเณร ภายใต้โครงการขยายผลและขับเคลื่อนการนำชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชันเณรกล้า โภชนาดี ไปใช้ในโรงเรียนพระปริยัติธรรมผ่านภาคี 2 ช่องทาง คือ 1. สำนักโภชนาการและศูนย์อนามัย และ 2. ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนโรงเรียนพระปริยัติธรรมจำนวน 12 โรงเรียนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

ด้านพระมหาวิจิตร กลยาณจิตโต ประธานเขตการศึกษาพระปริยัติธรรม เขต 1 ผู้เป็นวิทยากรร่วมเสวนาและภาคีเครือข่ายการขยายผลชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดี ได้ฝากไว้ว่า

“สามเณรถือว่าเป็นเยาวชนของชาติ ซึ่งเป็นเด็กชายที่ได้รับการเข้าบวชมาเรียนหนังสือ เมื่อมาเรียนหนังสือแล้วสุขภาวะของสามเณรนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ ด้านโภชนาการจะต้องทำให้สามเณรจะมีสุขภาวะที่ดี เพราะว่าปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารที่ญาติโยมถวายก็ดี เรื่องแม่ครัวทำอาหารก็ดี เรื่องนมที่เป็นโภชนาการก็ดี เรื่องคนที่มาขายของเรื่องน้ำหวานก็ดี ทำอย่างไรถึงจะช่วยกัน ให้สามเณรเหล่านี้สามารถมีภูมิคุ้มกัน รู้จักประมาณในการฉันอาหารและก็ดูแลสุขภาพ ส่วนสำคัญ คุณโยมทุกท่านควรจะเข้ามาช่วยดูแล อะไรที่ทำได้ ทำไม่ได้ อะไรที่เป็นประโยชน์กับสามเณร อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสามเณร บางอย่างก็ฉันเพราะโยมถวาย แต่ว่าไม่มีประโยชน์ บางอย่างมีประโยชน์โยมก็ไม่ถวาย ทำอย่างไรสามเณรถึงจะมีสุขภาวะที่ดี เพราะฉะนั้นการที่สามเณรมีสุขภาวะที่ดี การเรียนดี การศึกษาดี คนเหล่านี้ก็จะเป็นกำลังสำคัญต่อพระศาสนา เป็นกำลังของประเทศชาติ อนาคตก็จะดี ขอเจริญพร”

ส่วนคุณปัทมาภรณ์ อักษรชู หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมโภชนาการวัยเรียนและวัยรุ่น สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ซึ่งเป็นภาคีสำคัญอีกหน่วยงานหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนการขยายผลชุดสื่อและเว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้า โภชนาดี ได้ฝากไว้ว่า

“พระสงฆ์หรือสามเณร เป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของชุนชนและประชาชนทั่วไป การดูแลสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ในด้านอาหารโภชนาการและกิจกรรม การออกกำลังกายก็ควรที่จะเหมาะสม ประเด็นสำคัญในการจัดเตรียมอาหาร ไม่ควรที่จะหวานและเค็มจนเกินไป เนื่องจากอาจจะส่งผลทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมาในอนาคต ฉะนั้นสุขภาพของพระสงฆ์และสามเณรจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าท่านอาจจะเป็นต้นแบบด้านโภชนาการ และด้านสุขภาพที่ดีสำหรับประชาชนได้ค่ะ”

ท้ายสุดนี้ ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จงจิตร อังคทะวานิช ได้ฝากไว้ว่า

“เป้าหมายของโครงการคือ อยากได้โรงเรียนต้นแบบที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับโรงเรียนอื่น ๆ เป็นการสร้างกระแสความเปลี่ยนแปลงเรื่องการเสริมสร้างโภชนาการให้กับสามเณร โดยสิ่งที่ต้องการฝากไปยังสังคม คือ สามเณรควรได้รับการส่งเสริมด้านนโยบายจากมหาเถรสมาคม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม ในการจัดหานมวัว ผัก สถานที่ออกกำลัง และจัดการเรื่องการเข้าถึงน้ำหวานของสามเณร”

นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าวดังกล่าว ยังมีการจัดอบรมถวายความรู้ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ ผู้นำทางสุขภาพต้นแบบ สงฆ์ไทยไกลโรค “สามเณรนักสื่อสารสุขภาวะ” โดยเป็นการถวายความรู้แด่สามเณรเกี่ยวกับ ความรอบรู้ทางสุขภาวะสำหรับสามเณร ตาม 4 เป้าปังที่ว่า ดื่มดีนมวัว สุขชัวร์เพิ่มผัก รักออกกำลัง หยุดยั้งน้ำหวาน การบรรยายหัวข้อ กายะ กิจกรรม สำคัญอย่างไร และกิจกรรมตามฐานสถานีสุขภาพ อาทิ การอ่านฉลากเครื่องดื่มและอาหาร การทดสอบสมรรถะทางกายของสามเณร นอกจากนี้ยังมีการฝึกปฏิบัติทักษะการออกแบบและผลิตวิดีโอสั้น สนุกอย่างมีสาระ เพื่อสื่อสารสุขภาพแด่สังคม และการฝึกปฏิบัติการสื่อสารดำเนินรายการหน้ากล้องสำหรับสามเณร โดยมีแต่ละทีมของสามเณรมีทีมพี่เลี้ยงจากโครงการสงฆ์ไทยไกลโรคคอยให้คำแนะนำ เพื่อผลิตคลิปวิดีโอสั้นในการนำมาสื่อสารบอกต่อทางสุขภาพและเผยแพร่สู่สังคม สร้างการบอกต่อชี้นำทางสุขภาพ (Health Advocacy) ที่มีพระสงฆ์และสามเณรเป็นต้นแบบสุขภาวะ ตามหลักการในธรรมนูญสุขภาพพระสงฆ์แห่งชาติที่ว่า พระสงฆ์แข็งแรง วัด มั่นคง ชุมชนเป็นสุข โดยมีพระสงฆ์และสามเณรเป็นผู้นำทางสุขภาพของชุมชน

ผู้สนใจสามารถเข้าใช้เว็บแอปพลิเคชัน เณรกล้าโภชนาดี ได้ทาง https://www.sonkthaiglairok.com/ เณรกล้าโภชนาดี และร่วมรับชมคลิปวิดีโอสั้นสื่อสารสุขภาวะผลงานของพระสงฆ์และสามเณรนักสื่อสารสุขภาวะได้ผ่านช่องทางการสื่อสารของโครงการ TikTok @sonkthaiklairok

สงฆ์ไทยไกลโรค ส่งเสริมโภชนปัญญา ร่วมพัฒนาสุขภาพพระสงฆ์

เว็บไซต์โครงการ สงฆ์ไทยไกลโรค https://www.sonkthaiglairok.com นางสาวกัญญาณัฐ สุวรรณศิริเขต ผู้ประสานงาน 081 376 3327 อีเมล Kanyanut.suwan@hotmail.com

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *