กลุ่มบริษัท เบตเตอร์ กรุ๊ป โดย บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) จับมือ สถาบันยานยนต์ ในการร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือทางวิชาการ ด้านการจัดการซากยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมถึงกรรมวิธีการจัดการซากรถยนต์ ให้ได้มีการกำจัดอย่างถูกวิธีตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามกฏหมาย

ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า “จากนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV โดยตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในปี พ.ศ. 2573ไว้ที่ 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศ เพื่อเป้าหมาย การลดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งสถาบันยานยนต์คำนึงถึงสิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กันไปด้วย คือ กระบวนการบริหารจัดการรถยนต์ที่หมดอายุใช้งานอย่างครบวงจร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมระยะยาว การใช้ประโยชน์จากชิ้นส่วนซากอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดการแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมต่อยอดมูลค่าหลังการใช้งานในยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) และผลักดันให้เกิดการรีไซเคิล

การหมุนเวียนทรัพยากรให้กลายเป็นชิ้นส่วนที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก ยาง พลาสติก ซึ่งสถาบันยานยนต์ และบริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) มีเจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ร่วมกันในการประสานความร่วมมือทางวิชาการ การวิจัยและพัฒนา เพื่อศึกษาค้นคว้า แลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ในประเด็นความเป็นไปได้ในเรื่องกระบวนการจัดการ นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่ทุกภาคส่วนได้แสดงศักยภาพ ร่วมกันค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ พัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ด้านคุณณัฐพรรณ เหลืองวิริยะ กรรมการ และรองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจ และสื่อสารองค์กร บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “กลุ่มบริษัท เบตเตอร์ กรุ๊ป มีประสบการณ์ด้านการบริหาร และจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ด้วยวิธีการบำบัด กำจัดนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ด้านพลังงาน ทางบริษัทฯ จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการจัดการซากยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV กำลังเป็นที่นิยม และได้รับส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวางแผนในการจัดการซากรถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่เสื่อมสภาพในระยะยาว เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน”

คุณณัฐพรรณ กล่าวต่อว่า “การลงนามความร่วมมือ ระหว่าง กลุ่มบริษัท เบตเตอร์ กรุ๊ป และ สถาบันยานยนต์ จึงมีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะลงมือปฏิบัติเพื่อให้ทราบข้อมูล และนำมาจัดทำเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการซากรถยนต์ และแบตเตอร์รี่รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ตลอดจนร่วมกันผลักดัน สนับสนุนให้มีระบบการจัดการที่มีมาตรฐานทัดเทียมระดับประเทศต่อไป ภายใต้นโยบายการดำเนินงานบนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีเจตนารมณ์ที่ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”