ม.วลัยลักษณ์ ชูกระบี่โมเดล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ขับเคลื่อนวิจัยกระบี่โมเดลปี 2 นำองค์ความรู้ลงไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีความ เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้

(1 พ.ย.66) รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ พงศกรรังศิลป์ รองอธิการบดีม.วลัยลักษณ์ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยกระบี่โมเดลปี 2 เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ตนพร้อมด้วยนักวิจัยภายใต้โครงการกระบี่โมเดล ได้เข้าประชุมร่วมกับหน่วยงานราชการในจังหวัดกระบี่และแกนนำเครือข่ายเกษตรกร ผู้ประกอบการชุมชนพบหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีร้านจี้ออ ร้านจำหน่ายสินค้าและของฝากจังหวัดกระบี่ โรงแรมอ่าวนางปริ๊นซ์วิลล์ ห้างสรรพสินค้าโว้ค กระบี่ และหอการค้าจังหวัดกระบี่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเหนือคลอง ศาลากลางจังหวัดกระบี่ เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ มาเยี่ยมชมพื้นที่นำเสนอสินค้าที่พัฒนาขึ้นภายใต้โครงการกระบี่โมเดล และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และได้รับความสนใจจากธุรกิจที่มาร่วมงานในการรับผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดได้เชื่อมโยงโครงการกระบี่โมเดลกับการตั้งงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2567 โดยได้งบประมาณ 2.9 ล้านบาทที่่หน่วยงานต่าง ๆ จะนำไปขับเคลื่อนเครือข่ายภายใต้โครงการกระบี่โมเดลและมีการติดตามถึงการจัดทำงบประมาณตามแผนปฏิบัติราชการประจำปี 2568 ต่อไป

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าวว่า การดำเนินงานในโครงการนี้เป็นการดำเนินงานในปีที่ 2 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก 6 ด้าน ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน แพะ สาหร่ายขนนก ผ้าบาติก และการตลาด โดยมีเป้าหมายการขับเคลื่อนและพัฒนาเครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ให้มีความพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ภายนอก ที่เปลี่ยนแปลงหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อวิถีชีวิตชุมชน โดยการดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและส่งเสริมให้เครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนดำเนินการแบบไม่รอ ไม่ขอ และลงมือทำ

โดยมีนักวิจัยและอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา เกิดการพัฒนานวัตกรที่เป็นผู้รู้ภายในชุมชน ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นโครงการเครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนสามารถพัฒนาและต่อยอดกิจกรรมดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน ผลสำเร็จของโครงการด้านหนึ่งวัดจากตัวเลขของเงินรายได้ที่เครือข่ายเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนที่เพิ่มขึ้น และชุมชนสามารถเรียนรู้ที่จะคิดต่อยอดและพัฒนาได้ด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตามผลการขับเคลื่อนโครงการ พบว่าหน่วยงานภาคเอกชนที่มาร่วมกิจกรรม ให้ความสนใจในการนำผลิตภัณฑ์จากโครงการกระบี่โมเดลไปวางจำหน่าย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นการสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้พัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่สำคัญปัจจุบันเกษตรกรและผู้ประกอบการชุมชนมีการรวมตัวกันในการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยน รวมถึงจับมือในการพัฒนาตัวเองภายใต้แนวคิด Think SMEs Act OTOP เน้นการดำเนินงานภายใต้แนวคิดไม่รอ ไม่ขอ ลงมือทำด้วย

กระบี่โมเดล เป็นอีก 1 โครงการวิจัยสำคัญที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินงานตามนโยบายด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ให้ความสำคัญกับการเป็นหลักในถิ่น ใช้องค์ความรู้วิทยาการการวิจัยในการขับเคลื่อนสังคมและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน”รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวฤทธิ์ กล่าว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *