แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. จับมือ สำนักพิมพ์พาสเอ็ดดูเคชั่น มอบหนังสือเด็กตามช่วงวัย หยุดวิกฤต Learning Loss เด็กไทยหลังโควิดทำการเรียนรู้ถดถอยทุกด้าน หวังรัฐบาลใหม่ เดินหน้าสวัสดิการหนังสือเด็กเล็กฟรี ต่อยอดถึงเด็กโต หากหวังได้ประชากรไทยคุณภาพ ระบุ 3 องค์กรระดับโลก ศึกษาย้ำชัดช่วยก้าวพ้นความจนได้

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมาแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานเขตหนองแขม และ สำนักพิมพ์พาสเอ็ดดูเคชั่น ร่วมกันจัดกิจกรรม 20 ปี พาสเอ็ดดูเคชั่น มอบหนังสือเครือข่ายอ่านยกกำลังสุข “ร่วมพัฒนาศักยภาพเด็กไทย หยุดวิกฤติ Learning Loss”ที่ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนผลิตน้ำดี เขตหนองแขม กรุงเทพมหานคร

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 กลุ่มเด็กเล็กได้รับผลกระทบมากที่สุด ขาดพัฒนาการทุกด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม และจิตใจ โดยเฉพาะพัฒนาการด้านภาษา ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก และองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศจัดส่งหนังสือถึงบ้านเด็ก เพื่อหยุดภาวะ Learning loss หรือภาวะถดถอยในการเรียนรู้ สร้างโอกาสการก้าวข้ามความยากจน ที่ผ่านมาแผนงานฯ จึงรณรงค์ให้เด็กมีหนังสืออ่าน และเรียกร้องให้รัฐจัดสวัสดิการหนังสือเด็กแรกเกิด และเด็ก 0-6 ปี ต้องมีหนังสือในบ้าน อย่างน้อย 3 เล่ม ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย และ กทม.ขานรับแล้ว และรอรัฐบาลใหม่มาผลักดันให้สำเร็จ รวมถึงต่อยอดการจัดหาหนังสือที่เหมาะสมกับเด็กโตเพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับกับการส่งเสริมให้การอ่านเป็นวัฒนธรรมของคนไทยต่อไป

ทั้งนี้ ในระหว่างที่สวัสดิการหนังสือฯ ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่จะหยุดวิกฤติ หรือประคองสถานการณ์ Learning loss ได้ คือ การพัฒนาศักยภาพครูและแกนนำชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจ ถึงการใช้หนังสือและการอ่านให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในศูนย์ดูแลเด็กของกทม.มีเพียงประมาณ 40 แห่ง ที่ยังไม่ได้ร่วมโครงการ และเริ่มมีหนังสือหมุนเวียนให้บริการเกิดขึ้นแล้ว หวังให้สำนักงานเขตต่างๆ นำไปขยายผล ขณะที่การต่อยอดให้มีหนังสือสำหรับเด็กโตนั้น อยู่ระหว่างศึกษานำร่อง คาดว่าจะทราบผลและนำเสนอปลายปี 2566 เพื่อทำให้เห็นว่าการอ่านที่สอดคล้องตามช่วงวัย สร้างความหมาย สร้างคุณค่าในการพัฒนาเด็กได้ เชื่อว่าวิธีการนี้น่าจะเป็นการปลดล็อควิกฤตครั้งใหญ่และสร้างกรอบความคิด (Mindset) ใหม่ให้กับสังคมไทยว่า หากประสงค์ให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ มีวิจารณญาณนั้นสามารถเริ่มได้ตั้งแต่ปฐมวัย เพราะการลงทุนในเด็ก มีความคุ้มค่าและคืนทุนได้ มากกว่า 7-12 เท่า

“การอ่าน กับการเล่าเรื่องนั้นมีความแตกต่างกัน การอ่านตามตัวอักษรจะทำให้เด็กค่อยๆ ถอดรหัสได้ และยังเปิดพื้นที่ว่างทางความคิดให้กับเด็ก เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเด็กตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งตัวทรัพยากรสื่อ หนังสือ กิจกรรม หรือคุณภาพของครูที่จะส่งต่อ ดังนั้นสิ่งที่เราทำนี้ถือเป็นการปลดล็อคปัญหา วางรากฐานวางอิฐก้อนใหม่ให้แข็งแรง หรือจะเรียกว่าเรากำลังลงเสาเข็มด้านการศึกษา การสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยกัน” นางสุดใจ กล่าว

นางสุชาดา สหัสสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทพาสเอ็นดูเคชั่น จำกัด กล่าวว่า การลงทุนในเด็กเล็กช่วงปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ซึ่งพาสเอ็นดูเคชั่น และหน่วยงานเอกชนร่วมทำกันมานานแล้วในการรณรงค์ส่งเสริมการอ่าน โดยจัดกลุ่มหนังสือให้ชัดเจนตั้งแต่กระบวนการพิมพ์ ว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะกับช่วงวัยไหน เพื่อช่วยพ่อแม่เลือกหนังสือได้เหมาะสมกับวัยของลูกๆ เพราะเคยพบวารสาร หนังสือพิมพ์สุดสัปดาห์ หนังสือวิชาการต่างๆ แต่ไม่มีหนังสือสำหรับเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ทำให้เด็กไม่อยากอ่าน แต่พอเรานำหนังสือนิทานไปให้ กลับพบว่าเด็กๆ สนใจมาก ดังนั้น การที่บอกว่าเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ อาจจะต้องถามกลับว่า เป็นเพราะไม่มีหนังสือเด็กให้อ่านหรือไม่ ทั้งนี้เราเชื่อว่าการส่งเสริมให้เด็กอ่านหนังสือจะทำให้เด็กโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในทางกลับกันหากเราไม่ส่งเสริม ก็จะไม่มีเด็กคุณภาพ และไม่มีผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต ดังนั้นจึงอยากจะฝากผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและรัฐบาลต่อไป ให้ช่วยกันส่งเสริมเรื่องการอ่าน ถือเป็นการสร้างเสริมสติปัญญา นำไปสู่คุณภาพของคนไทยที่ดี เช่นเดียวกับงานศึกษาที่พบว่า การอ่านจะทำให้ป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งปัญหายาเสพติด และท้องในวัยเรียน เพราะหนังสือช่วยให้มีปัญญา มีวุฒิภาวะในการดูแลตัวเอง และโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

“หนังสือต่อให้ดีแค่ไหนถ้าไม่ผ่านมือเด็ก ไม่ผ่านการใช้ที่ถูกต้อง ก็ไม่เกิดประโยชน์ หนังสือต้องทำให้เด็กสามารถจับต้องได้ เข้าถึงได้ จริงๆ ถึงจะทำให้เกิดนิสัยรักการอ่าน ซึ่งพาสเอ็นดูเคชั่น ยินดีสนับสนุนเท่าที่เราทำได้ และทุกคนก็ทำได้ แต่ไม่อยากให้ใช้คำว่าบริจาค เพราะจะเหมือนกับการเอาขยะของบ้านออกมาเท ซึ่งไม่ใช่หนังสือที่เด็กต้องการหรือว่าเหมาะสมกับช่วงวัย ฉะนั้นจึงต้องใช้คำว่าจัดหนังสือ จัดสวัสดิการหนังสือที่เหมาะสมกับช่วงวัยจริงๆ ถึงจะเกิดคุณภาพ ส่วนที่เรานำมาสนับสนุนในวันนี้ คิดว่าคงไม่พอ เพราะการอ่าน การเรียนรู้ทำได้ตลอดชีวิต ดังนั้นการที่เราสนับสนุนจึงแค่จุดประกาย ในบางพื้นที่ และถึงเวลาที่ภาครัฐก็ต้องเข้ามาโอบอุ้มต่อ” นางสุชาดา กล่าว

ขณะที่ นายสุชาติ รักซื่อ ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตหนองแขม กล่าวว่า หนองแขมมีศูนย์ พัฒนาเด็กเล็กจำนวน 11 แห่ง ในนามสำนักงานเขตหนองแขม ขอบคุณสำนักพิมพ์พาสเอ็นดูเคชั่น ที่ให้การสนับสนุนหนังสือให้กับเด็กในพื้นที่นำร่องศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนผลิตน้ำดี (หทัยรัก) เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ด้านต่างๆ นำสู่การพัฒนาศักยภาพของตัวเด็กต่อไป ในส่วนของเขตฯ ก็จะเน้นการเพิ่มศักยภาพครูพี่เลี้ยงในการพัฒนาเด็กๆ ด้วยการอ่านตามลำดับขั้นตอน ตามช่วงวัย เพื่อปลูกฝังให้เด็กรักในการอ่านหนังสือ และจะมีคณะทำงาน, ครูพี่เลี้ยงติดตามประเมินผลต่อไป.