เปิดตัวโครงการ “Abuse is Not Love’ ในประเทศไทยเสริมความเข้าใจ 9 สัญญาณเสี่ยงแก้ความรุนแรงในครอบครัว

เปิดตัวโครงการ “Abuse is Not Love’ ในประเทศไทยเสริมความเข้าใจ 9 สัญญาณเสี่ยงแก้ความรุนแรงในครอบครัว หลังพบสถานการณ์ไทย-ทั่วโลกยังน่าห่วง “เหยื่อ” เปิดใจสุดทนพฤติกรรมผัวโหดทุบตีไม่สนลูกในท้อง ก่อนตัดสินใจเลิกทำงานเลี้ยงลูกคนเดียว

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ (YSL Beauty) ภายใต้ ลอรีอัล ประเทศไทย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ‘Abuse is Not Love’ เพื่อเผยแพร่ความรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสัญญาณเตือนของความรุนแรงในคู่รัก (Intimate Partner Violence) ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาความรุนแรงในคู่รักในประเทศไทยต่อไป

นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า จากสถิติของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงในครอบครัวทางหน้าหนังสือพิมพ์ทุกวัน โดยในปี 2563 มีข่าวฆาตกรรมในคู่รัก มากถึง 323 ข่าว คิดเป็น 54.5% ของข่าวความรุนแรงในครอบครัวทั้งหมด เมื่อวิเคราะห์ข่าวฆาตกรรมในคู่รัก พบอยู่ในช่วงอายุไม่เกิน 30 ปี ถึง 54.1% สาเหตุหลักมาจากความหึงหวง ขาดสติเนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้ยาเสพติด และความขัดแย้งเรื่องหนี้สิน ยิ่งไปกว่านั้น จากรายงานความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ปี 2564 พบหญิงไทยถูกทำร้ายร่างกาย จิตใจไม่ต่ำกว่า 7 คนต่อวัน มีการแจ้งความปีละ 30,000 ราย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ทำงานใกล้ชิดผู้ประสบปัญหา พบว่าหลายครั้งสามารถป้องกันไม่ให้รุนแรงบานปลายได้ หากผู้อยู่ในสถานการณ์มีความรู้ ความเข้าใจในสัญญาณความรุนแรงแต่เนิ่นๆ ดังนั้นตนหวังว่าโครงการ Abuse is Not Love จะทำให้ประชาชน ตระหนักเรื่องความรุนแรงในคู่รักมากขึ้น และส่งเสริมให้สังคมมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ด้าน นางสาวเน (นามสมมติ) อายุ 25 ปี กล่าวว่า ตอนอายุประมาณ 19 ปี ตนเริ่มคบหากับอดีตแฟนได้ประมาณ 1 ปี ช่วงแรก ๆ ฝ่ายชายให้เกียรติ เอาใจใส่อย่างดี พอช่วงหลังเริ่มดุด่า มีปากเสียงรุนแรง หึงหวง กล่าวหาว่าตนจะไปมีแฟนใหม่ ตอนทะเลาะกันมักจะมีญาติฝ่ายชายพูดจาเสียดสีมีอคติ แต่ตนยอมเพราะรักและอยากสร้างครอบครัวร่วมกัน แม้ถูกทำร้ายร่างกายก็อดทน เมื่อฝ่ายชายขอโทษก็หายโกรธ แต่สุดท้ายเหตุการณ์รุนแรงขึ้นทำร้ายร่างกายรุนแรง ตบตี ชกต่อย ใช้มีดจี้คอ ผลักให้รถชน ที่รุนแรงสุดคือเตอะที่ท้องอย่างแรงต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และถึงแม้แพทย์แจ้งว่าตนตั้งครรภ์ แต่ฝ่ายก็ไม่เลี่ยนพฤติกรรม ยังทำร้ายร่างกายอย่างรุนแง ตนจึงตัดสินใจเลิกและทำงานหาเงินเลี้ยงลูกคนเดียวจนถึงปัจจุบัน โชคดีที่ได้รับคำแนะนำเสริมสร้างพลังใจจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลเรื่อยมา โดยมีลูกเป็นกำลังใจสำคัญในการสู้กับปัญหาต่างๆ ดังนั้นตนจึงอยากฝากถึงคู่รักทุกรูปแบบว่า ควรให้เกียรติกัน ไม่ควรกระทำความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และต้องจับสัญญาณความรุนแรงที่เขาแสดงออกมาให้ดี เพื่อจะได้หาทางเอาตัวเองออกจากความุรนแรงหรือยุติความสัมพันธ์

ขณะที่ผู้แทนอีฟส์ แซงต์ โลรองต์ โบเต้ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงในคู่รัก เป็นหนึ่งในรูปแบบของความรุนแรงที่พบได้ง่ายสุด ทั้งร่างกาย วาจา จิตใจ และเพศ การทารุณกรรมทางการเงิน เป็นต้น โดย 1 ใน 3 ของผู้หญิงทั่วโลกมีประสบการณ์ความรุนแรงในคู่รักในชีวิต แต่มีเพียงบางส่วนที่ได้รับความยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 คนในครอบครัวต้องอยู่ด้วยกันมากขึ้น พบความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่า 60% เทียบกับช่วงก่อนระบาด ทั้งนี้การแก้ปัญหาคือการตระหนักสัญญาณเชิงพฤติกรรมและการแสดงออก ซึ่งโครงการ Abuse is Not Love จะช่วยรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจและตระหนักรู้มากขึ้น โดยดำเนินการ 3 แนวทางคือ 1.สนับสนุนเงินทุนสำหรับงานวิจัยเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาความรุนแรงในคู่รัก 2. การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ 9 สัญญาณของความรุนแรงใน แก่ผู้คนอย่างน้อย 2 ล้านคนผ่านองค์กรพันธมิตรในหลากหลายประเทศ และ 3.อบรมพนักงาน YSL Beauty และ Beauty Advisor เกี่ยวกับความรุนแรงของคู่รักในสถานที่ทำงาน ซึ่งลอรีอัล กรุ๊ป ตั้งเป้าช่วยผู้หญิง 3 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2030 ผ่านโครงการต่างๆ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นใน 17 ประเทศทั่วโลก ได้ให้ความรู้แก่เยาวชนกว่า 100,000 คน

ทั้งนี้ 9 สัญญาณอันตรายที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงในคู่รักข้อ คือ 1.หมางเมิน ในวันที่พวกเขาโกรธ 2.แบล็กเมล ถ้าคุณปฏิเสธที่จะทำบางอย่าง 3.ทำให้อับอายขายหน้าจนคุณรู้สึกไม่ดีกับตนเอง 4.พยายามปั่นหัว เพื่อบังคับให้คุณทำหรือพูดบางอย่าง 5.หึงหวง ในทุกอย่างที่คุณทำ 6.ควบคุม ทุกเรื่อง 7.รุกราน ตรวจโทรศัพท์หรือติดตามที่อยู่ของคุณ 8.ตัดขาด คุณออกจากเพื่อนและครอบครัว และ 9.ข่มขู่ ด้วยการบอกว่าคุณไม่ปกติและปลูกฝังความกลัว

You May Also Like

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *