Skip to content
จากแนวคิดที่ตรงกัน เรื่องการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น “ศูนย์กลางของพืชสมุนไพรโลก” ระหว่างภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือทางวิชาการครั้งสำคัญ มาก่อนหน้านี้ ล่าสุดบริษัท กรีนอินฟินิท จำกัด พร้อมด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร พร้อมด้วยมูลนิธิในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร หอการค้าจังหวัดพิจิตร ตลอดจนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกพืชผักสมุนไพรวังทรายพูน และเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาพืชสมุนไพรและกัญชงบ้านสันธาตุ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ “โครงการวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพร และกัญชง เพื่ออาหารสุขภาพ และประโยชน์ทางการแพทย์” แล้ว
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพรไทยและกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ รวมทั้งการผลักดันให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางพืชสมุนไพรโลก” อันจะนำมาซึ่งประโยชน์แก่เกษตรกรไทยที่จะสามารถสร้างรายได้และส่งต่อไปถึงเกษตรกรรุ่นลูก รุ่นหลานแบบยั่งยืน ครั้งล่าสุด มีผู้ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร นายธีรยสถ์ จิตต์เสนา ประธาน บริษัท กรีนอินฟินิทนายทรงภพ สืบชาติ กรรมการ บริษัท กรีนอินฟินิท นายเด่นชัย ลาวิชัย ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนพัฒนาพืชสมุนไพรและกัญชงบ้านสันธาตุ นายจักรภฤต บรรเจิดกิจ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้ปลูกพืชผักสมุนไพรวังทรายพูน นายเจนศิลป์ เจริญบวรศักดิ์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร นายอภิทรัพย์ เลิศสิริประภา ประธานมูลนิธิในโครงการตามพระราชดำริสวนป่าสมุนไพร รวมถึงศูนย์การเรียนรู้แพทย์ทางเลือก สวนสมุนไพรวันตรีวิสุทธิธรรม เข้าร่วมงาน ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เมื่อวันที่ 31 กรกฏาคม 2563
นายธีรยสถ์ จิตต์เสนา ประธาน บริษัท กรีนอินฟินิท เปิดเผยว่า โครงการวิจัยและพัฒนาพืชสมุนไพร และกัญชง เพื่ออาหารสุขภาพ และประโยชน์ทางการแพทย์ เกิดจากแนวคิดที่ทางบริษัทฯ ต้องการเห็นเกษตรกรของไทยมีรายได้ และสามารถปลดหนี้สินของตัวเองได้ “ในต่างประเทศนั้น เริ่มมีการผลักดันสมุนไพรขึ้นมาใช้แทนที่ยาแผนปัจจุบัน ที่สังเคราะห์มาจากสารเคมี ยกตัวอย่าง ในประเทศสหรัฐอเมริกามีผลสำรวจว่า 1 ใน 3 ของชาวอเมริกัน นิยมบริโภคสมุนไพร หรือ ในประเทศญี่ปุ่น กว่า 80% ของการรักษาพยาบาล นิยมใช้ยาที่มีส่วนผสมจากสมุนไพร ทางบริษัทฯ ได้รู้ว่า พืชเหล่านี้สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับเกษตรกรในประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ประเทศไทย ยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสมุนไพรเยอะที่สุดในโลก และมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การปลูกสมุนไพรเป็นอย่างดี จุดนี้เลยทำให้ผมหันกลับมามองว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรของไทยของเราสามารถปลูกพืชสมุนไพร และกัญชง ได้เหมือนในต่างประเทศ ผมจึงมาปรึกษากับทางท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชง รวมถึงสมุนไพร ต่าง ๆ ที่ปลูกในประเทศไทย”
“ในการทำวิจัยโดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นหลัก เรามองว่านอกจากที่นี่จะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ครบแล้ว ทางมหาวิทยาลัย ยังมีนโยบายเป็นไปในทิศทางเดียวกันทางบริษัท ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับเกษตรกรไทย โดยเป้าวัตถุประสงค์ของการทำวิจัย ก็เพื่อพัฒนาให้เกิดสายพันธุ์กัญชงของประเทศไทยและมีราคาถูก ที่จะให้เกษตรกรเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ เช่นเดียวกับ การพัฒนาโรงเรือนระบบออแกนิคที่เป็นมาตรฐานระดับโลก นอกจากนี้ เราก็ยังร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัย เพื่ออบรมเรื่องของการปลูก และการสกัดสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์จากพืชสมุนไพร ออกมาใช้อย่างคุ้มค่า ก่อนนำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ และอาหารสุขภาพ ต่างๆ และสุดท้ายคือ เราจะช่วยมองหาตลาดส่งออกต่างประเทศให้กับเกษตรกร ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเข้มแข็งให้ตลาดวิสาหกิจชุมชนด้วย”
ประธานบริษัท กรีนฟินิท กล่าวอีกว่า “หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนอย่างที่เราวางไว้ ผมเชื่อว่า ในอนาคตประเทศไทยของเรา จะกลายเป็นศูนย์กลางของการส่งออกสมุนไพร ที่มีคุณภาพของโลก รวมถึงยังจะสร้างประโยชน์อันมหาศาลให้กับเกษตรกร และประเทศไทยของเราเอง เพราะประเทศของเรา มีความได้เปรียบทั้งเรื่องของ ดิน ฟ้า อากาศ รวมถึงมีมหาวิทยาลัยที่มีองค์ความรู้ หรือแม้แต่เกษตรกรของไทย ยังมีความเข้าใจเรื่องของการปลูกพืช และสมุนไพร เป็นอย่างดีด้วย”
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังสี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า บทบาทของทางมหาวิทยาลัยนเรศวร คือ ต้องสร้างองค์ความรู้ ทักษะ และถ่ายทอดความรู้คืนให้กับสังคม“เพราะทางมหาวิทยาลัยของเรา มีคำขวัญว่า …มหาวิทยาลัยคุณธรรม เพื่อประชาชน… ดังนั้น ความร่วมมือที่เกิดขึ้น จึงเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เกิดจากงานวิจัย ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และสิ่งที่เราบอกว่า ..เพื่อประชาชน… คือ ต้องการให้องค์ความรู้ที่ของเราถูกถ่ายทอดให้เป็นมาตนฐานสากล หรือเป็นไปตามมาตรฐานระดับโลก ก็เพื่อการแข่งขันของคนไทยในอนาคต ฉะนั้นแล้ว ความร่วมมือในวันนี้จึงเป็นไปตามนโนยาย และแนวคิดของมหาวิทยาลัย ที่จะสร้างประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันของทุกฝ่ายให้เกิดขึ้น”
“หลังจากที่องค์ความรู้ ที่ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นผู้เริ่มต้นในฐานะต้นแบบ เป็นผลสัมฤทธิ์แล้ว เราก็จะได้กระจายองค์ความรู้ทางด้านนี้ ให้กับคนไทยทั้งหมด โดยคาดว่า ประมาณ 1 ปี ข้างหน้านี้ ผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยจะเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และสามารถนำไปสร้างประโยชน์ทางด้านสุขภาพ ของประชาชนและเกษตรกร ได้อย่างเท่าเทียมกันในท้ายที่สุด”
อย่างไรก็ดี นอกจากบริษัท กรีนอินฟินิท จำกัด จะให้การสนับสนุนในด้านการทำวิจัย เพื่อให้เกิดการพัฒนา และการสกัดสารเคมีที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และทางการแพทย์ จากพืชสมุนไพรแล้ว ความร่วมมือที่เกิดขึ้น ยังจะช่วยยกระดับมาตรฐานพืชสมุนไพรของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเกษตรกรแบบครบวงจรในการดำเนินธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดเป็นต้นแบบของ Smart Farmer อันจะช่วยตอบสนองนโยบายของภาครัฐ รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มกับทางบริษัทฯ ซึ่งรายได้ที่เกิดขึ้นในโครงการฯ ยังจะแบ่งสัดส่วนให้เกษตรกร 50 % หลังจาก 5 ปีที่เกษตรกรสามารถดำเนินการต่างๆ ได้ด้วยตนเอง แล้วทางบริษัทจะส่งมอบกิจการให้กับเกษตรกรทั้งหมด 100 % ต่อไปในอนาคต