วช. เผยผลการศึกษา พบโรคโควิด-19 ยังแพร่กระจายอยู่ทั่วโลก ถึงแม้ว่าหลายประเทศจะสามารถควบคุมการระบาดในรอบที่หนึ่งได้แล้ว
(14 มิถุนายน 2563) ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา ของ ศบค. เปิดเผยว่า จากการศึกษาข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก พบการระบาดของแต่ละประเทศ ตามระยะของสถานการณ์การระบาด มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
- ประเทศที่ยังอยู่ในระยะของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 กราฟยังชัน ยังไม่ถึงจุดสูงสุดของการระบาดหรือกำลังอยู่ในระยะของการระบาดสูงสุดในขณะนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปอเมริกาใต้ ลาตินอเมริกา เอเชียใต้ และตะวันออกกลาง เช่น ประเทศบราซิล เม็กซิโก ชิลี เปรู แอฟริกาใต้ รัสเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน และอาจจะรวมถึงประเทศอิหร่าน และอินโดนีเซีย
- ประเทศที่ยังใช้แนวทางปล่อยให้คนติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ ประเทศสวีเดน
- ประเทศที่ควบคุมการระบาดได้ แต่ยังไม่พ้นระยะการแพร่ระบาดโรค เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ สเปน ตุรกี อิตาลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และประเทศมาเลเซีย
- ประเทศที่พ้นการระบาดรอบที่หนึ่งแล้ว เช่น ประเทศจีน ไทย เยอรมัน สโลวีเนีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และประเทศไอซ์แลนด์
- ประเทศที่เกิดการติดเชื้อในระยะที่สองแต่ยังควบคุมได้ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และประเทศ สิงคโปร์
- ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่ไม่เกิดการระบาดใหญ่ เช่น ประเทศฮ่องกง ไต้หวัน เวียตนาม และประเทศลาว
ประเทศไทยเราอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถือว่าควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดี และผ่านพ้นการแพร่ระบาดในรอบที่หนึ่งแล้ว โดยไม่มีผู้ติดเชื้อจากภายในประเทศติดต่อกันมากกว่าสองสัปดาห์ โดยได้มีมาตรการในการผ่อนคลายแล้ว 3 ระยะ และจะเริ่มมาตรการผ่อนคลายระยะที่สี่ ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2563 เป็นต้นไป ซึ่งจะต้องดูแลป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในรอบที่สองอย่างเข้มงวด
📚ประมวลข้อมูลโดย ศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)