ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีม.วลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า หลังจากที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ จัดการเรียนการสอนออนไลน์แทนการสอนในห้องเรียน ลดการเรียนร่วมกันของนักศึกษาในห้องเรียน ขณะเดียวกันจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ออกประกาศให้งดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย เพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่สาธารณะและสถานศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของกระทรวงอว.และจังหวัดอย่างเคร่งครัด โดยมีการประกาศงดการเรียนการสอนภาคปกติ มาตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคมถึงวันที่ 1 เมษายน 2563 และในช่วงเวลาดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้เตรียมความพร้อมการสอนออนไลน์ให้แก่อาจารย์ผู้สอน สำรวจอาจารย์ทุกคนว่ามีทักษะความรู้ทางด้านการสอนออนไลน์มากน้อยแค่ไหน พร้อมทั้งมีการจัดอบรมให้แก่อาจารย์ เพื่อให้อาจารย์ได้รู้ว่าสอนออนไลน์ต้องเตรียมตัวอะไรอย่างไร มีขั้นตอนการจัดการเรียนการสอนอย่างไรและควรใช้เครื่องมืออะไรบ้าง เมื่อสอนเสร็จแล้วจะมีวิธีการประเมินผลอย่างไร เพื่อทำให้การเรียนการสอนออนไลน์มีคุณภาพเทียบเท่ากับการสอนในห้องเรียนปกติ
ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าวต่อไปว่า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเริ่มสอนออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2563 เป็นต้นไป โดยสอนผ่านโปรแกรมต่างๆ เช่น Microsoft Team, Google Meet, Application Zoom, Jitsi , Wenex บูรณาการร่วมกับโปรแกรมออนไลน์และสื่อการสอนอื่นๆ เพื่อให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถบันทึกการสอนให้สามารถดูย้อนหลังได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในรายวิชาบรรยายกำหนดให้จัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ทั้งหมด รายวิชาปฏิบัติการที่นักศึกษาจะต้องเข้าห้องแลป จะมีการเลื่อนการสอนไปจนกว่าสถานการณ์โควิด-19จะดีขึ้น ส่วนการประเมินผลการเรียนการสอนอาจารย์ผู้สอนสามารถใช้วิธีการประเมินตามกรอบ UKPSF เน้นการประเมินแบบ Formative Assessment หากนักศึกษาไม่ผ่านมาตรฐานรายวิชาให้ผู้สอนให้เกรด IP (อยู่ในระหว่างกระบวนการประเมินผล)ไปก่อน และมอบหมายงานหรือสอนเสริมจนกว่าจะผ่านตามเกณฑ์ที่รายวิชาหรือหลักสูตรกำหนด
ทั้งนี้ขอให้อาจารย์ผู้สอนและนักศึกษายึดตามตารางสอนและตารางเรียนของภาคการศึกษา3/2562 ตามที่ศูนย์บริการการศึกษากำหนด และนักศึกษาทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาคู่มือการใช้โปรแกรมการเรียนการสอนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ http://www.cdt.wu.ac.thซึ่งมหาวิทยาลัยได้สร้าง Username และ Password สำหรับการเข้าใช้งานโปรแกรมการสอนออนไลน์แล้ว อย่างไรก็ตามหากนักศึกษาไม่มีความพร้อมในเรื่องอุปกรณ์หรือเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มหาวิทยาลัยได้จัดหาซิมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงไว้บริการให้แก่นักศึกษาที่เรียนออนไลน์จากบ้านเพื่อให้เข้าถึงการเรียนการสอนออนไลน์ได้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เทคโนโลยีดิจิตัล โทร.075-673400 เพจเฟซบุ๊ก : the center for digital technology
“ท้ายที่สุดนี้ขอให้นักศึกษาและผู้ปกครองทุกคนมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยมีมาตรการในการคัดกรองป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างเคร่งครัดเข้มข้น เขตพื้นที่ของมหาวิทยาลัยถือเป็นเขตปลอดเชื้อ COVID-19 อย่างแน่นอน และมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในทุกด้านสำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์” ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ กล่าว