กว่า 3 เดือนแล้ว ที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งนับว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ ส่งผลกระทบในวงกว้างและมีแนวโน้มที่จะยังแพร่กระจายไปยังทั่วทุกมุมโลกอย่างต่อเนื่อง หลากหลายมุมมองหลากหลายปัญหาเกิดขึ้นตามๆ มาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่นักการแพทย์และสาธารณสุขผู้ซึ่งอยู่ด่านหน้าของสงครามเชื้อโรคนี้จะต้องหาวิธีการที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยและนวัตกรรม ที่เร่งค้นหาความลับที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ เพื่อทำความเข้าใจและหาทางแก้ปัญหาอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ ภายใต้ภาวะความเครียดและข้อจำกัดของเวลา สิ่งสำคัญที่สังคมโลกไม่สามารถปฏิเสธได้เลยจากเหตุการณ์ระบาดครั้งนี้ คือ ผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID-19
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ ราชบัณฑิตยสภา รวบรวมกูรูด้านสังคมศาสตร์ร่วมถก “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID-19”
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมเสวนาในครั้งนี้ ว่าเป็นการมุ่งเน้นที่จะสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนและสังคมในการใช้ชีวิตในภาวะวิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 การลดความตื่นตระหนกและทำความเข้าใจกับสถานการณ์การแพร่ระบาด การลดความตึงเครียดและสร้างเสริมภูมิต้านทางด้านจิตใจ ความเข้าใจเอื้อเฟื้อแบ่งปันกันในสังคม การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ชุมชนเพื่อเป็นเกราะพลังทางจิตใจ การเสพข่าวที่เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องและมีความเข้าใจก็จะสามารถทำให้เราสามารถผ่านวิกฤตินี้ไปได้ด้วยกัน
การระบาดของโรคที่ขยายวงกว้างมาตลอดระยะเวลา 3 เดือน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดได้ในเร็ววัน ส่งผลต่อ ธุรกิจ ผู้ประกอบการ แรงงาน ผู้บริโภค และพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป สภาพคล่องทางการเงิน ถูกกระทบอย่างเป็นลูกโซ่ ทำอย่างไรที่เราจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในห้วงเวลานี้
ผลจากการระบาดของโรค ในโลกยุค COVID-19 มิได้มีผลต่อสุขภาพร่างกายเพียงเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ อันอาจจะนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทย สังคมโลก อย่างที่เห็นได้ในทุกวันนี้อีกด้วย
การเสวนา ในหัวข้อ “จะใช้ชีวิตอย่างไร ในโลกยุค COVID-19” จัดขึ้นในวันที่ 12 มีนาคม 2563 เพื่อเป็นเวทีในการเสวนา แลกเปลี่ยนมุมมอง และนำเสนอข้อชี้แนะในการปฏิบัติตัว สร้างความเข้าใจให้ประชาชนและสังคมในการใช้ชีวิตที่มีคุณภาพควบคู่กับภาวะวิกฤติการระบาดของโรค COVID-19 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ได้แก่ สังคม สุขภาพ การแพทย์ และเศรษฐกิจของประเทศ เข้าร่วมกิจกรรม