กรุงเทพฯ12 กุมภาพันธ์ 2563 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จับมือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ติดอาวุธเอสเอ็มอี พร้อมปรับตัวทำตลาดแบบใหม่ เพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์ ตั้งเป้าหมาย 30 กิจการ คาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยกว่า10 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการค้า แบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ถือว่าเป็นตลาดที่มีอิทธิพลในการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนเงินตราในระบบเศรษฐกิจของประเทศ จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่สอดรับกับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล โดยจากสถิติในปี พ.ศ. 2560 – 2561 พบว่ามูลค่ายอดขาย e-commerce ในประเทศไทยเติบโตกว่าร้อยละ 14 มีมูลค่ายอดขายในปี พ.ศ. 2561 พุ่งสูงกว่า 3.2 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลให้มีผู้สนใจทั้งผู้ประกอบการเดิมและผู้ประกอบการใหม่
เข้ามาทำการตลาดออนไลน์อีคอมเมิร์ซเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดดังกล่าวอย่างเข้มข้น
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพและเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาดออนไลน์อีคอมเมิร์ซ ให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัด “กิจกรรมยกระดับ SMEสู่ Global ด้วยการตลาดออนไลน์ e-commerce” เพื่อพัฒนาความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ และเพิ่มศักยภาพเอสเอ็มอี ให้มีช่องทางการทำตลาดออนไลน์อีคอมเมิร์ซ และมียอดขายเพิ่มขึ้น บนต้นทุนที่ไม่สูง สามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้กับธุรกิจ เกิดการขยายธุรกิจ ให้เข้มแข็งและเติบโตต่อไป ซึ่งประโยชน์ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุน ส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านการค้าและการลงทุนในประเทศอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ฐานเศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ต่อไป
“การเตรียมความพร้อมเพื่อจะเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 และสามารถแข่งขันกับตลาด ในปัจจุบันได้ เอสเอ็มอีจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดแนวทางการทำการตลาดแนวใหม่บนโลกออนไลน์ ซึ่งมีทิศทางการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอาศัยแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการทำการตลาด ในครั้งนี้เราได้จัดวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำปรึกษา พร้อมทั้ง แนะนำเทคนิค กลยุทธ์ในการทำตลาดออนไลน์ระดับสากลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มรายได้จากช่องทางการตลาดออนไลน์ อีคอมเมิร์ซ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นภาคการผลิต หรือ ภาคการค้า หรือ ภาคบริการ จำนวน 30กิจการ ซึ่งคาดว่าหลังจบโครงการจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มยอดขาย ได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 10 คาดเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ไม่น้อยกว่า10 ล้านบาท” นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย